เศรษฐา กระชับอำนาจรัฐบาลเพื่อไทย แต่งตั้งทีมข้าราชการ C11 บุกปัญหาเศรษฐกิจ

ภารกิจรูทีนที่ตกค้างมาจากสุญญากาศ “ครม.รักษาการ” ถูกบรรจุไว้เป็นนโยบาย “ทำทันที” ในการประชุม “ครม.นัดแรก” เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน

ทั้งการลดค่าไฟฟ้า “งวดใหม่” ออกไปอีก 4 เดือน (กันยายน-ธันวาคม 2566) ให้กับประชาชน “กลุ่มเปราะบาง” ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ภายหลังสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือไปแล้วเมื่อเดือนสิงหาคม 2566

รวมถึงการ “ลดราคาน้ำมัน” ผ่านเครื่องมือทางภาษี ยกเว้นสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาท หลังสิ้นสุดไปตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2566 ซึ่งปัจจุบันใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการดูแลและรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันดีเซล

แพ็กเกจบูต ศก.ฉบับเพื่อไทย

แพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่-ครั้งใหญ่ ที่รอพิสูจน์ฝีมือบริหารของ “อดีตบอสใหญ่แสนสิริ” ภายใต้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย 6 พรรค 34 รัฐมนตรี คือการบูสต์เครื่องยนต์เศรษฐกิจให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัว 5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

ผ่านเครื่องยนต์เศรษฐกิจสำคัญ 2 เครื่องยนต์หลัก ที่มีรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยเป็นเจ้ากระทรวง ทั้งเครื่องยนต์ท่องเที่ยว ที่มี “สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล” เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เช่น นโยบายฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวชาวจีน ไฮซีซั่น

เครื่องยนต์ส่งออกที่มี “ตัวเลขติดลบ” ติดต่อกัน โดยมี “ภูมิธรรม เวชยชัย” เป็นรองนายกรัฐมนตรีควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ขณะที่เครื่องยนต์ลงทุนภาครัฐ ที่มีนายเศรษฐานั่งควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็น “แม่งานหลัก” ในการเร่งเครื่องการจัดซื้อจัดจ้าง-ลงนามในสัญญาโครงการใหม่-ต่อเนื่อง ให้ตามทันการจัดสรรงบประมาณปี’67 ที่ล่าช้า 6 เดือน

คู่ขนานไปกับมาตรการเศรษฐกิจผ่านนโยบายหาเสียงพรรคร่วมรัฐบาล 6 พรรค 34 รัฐมนตรี ที่ประจำการอยู่แต่ละกระทรวง ถูกบรรจุลงเป็นร่างนโยบายของรัฐบาลที่จะแถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 11 กันยายน 2566 แนบด้วยแหล่งที่มาของเงินงบประมาณ

ตั้งแต่นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เม็ดเงินกว่า 5.6 แสนล้านบาทที่จะลงไปหมุนเศรษฐกิจในทุกชนชั้น ตั้งแต่รากหญ้าจนถึงมหาเศรษฐี ปักหมุด-กดปุ่มจ่ายเงินทั่วประเทศต้นปี 2567

นอกจากมาตรการ Quick Win แล้ว ยังมีนโยบาย “เพิ่มเงินในกระเป๋า” เช่น พักหนี้เกษตรกร 3 ปี รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน และเงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท ภายในปี 2570

รวมทั้งหนี้ครัวเรือน ที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยให้ติดหล่ม รอรัฐบาลเศรษฐาใช้ “ยาแรง” เพื่อแก้ปัญหาให้ถึงรากถึงโคน

เพิ่มเบี้ยคนแก่-บัตรคนจน

ขณะที่นโยบายหาเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลที่รอ “แชร์ผลงาน” เก็บไว้เป็น “ต้นทุน” ในการเลือกตั้งครั้งหน้า อย่างพรรคสองลุง ที่กำใส่มือพรรคเพื่อไทยบรรจุไว้ใน ร่างนโยบายรัฐบาล พรรคลุงผู้พี่-พลังประชารัฐ เช่น เปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก.เป็นโฉนด

เพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 700 บาทต่อเดือน เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุแบบขั้นบันได อายุ 60 ปี 3,000 บาทต่อเดือน 70 ปี 4,000 บาทต่อเดือน และ 80 ปี 5,000 บาทต่อเดือน

พรรคลุงผู้น้อง-รวมไทยสร้างชาติ เช่น เพิ่มสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเดือนละ 1,000 บาท พร้อมทั้งให้สิทธิกู้ฉุกเฉิน 10,000 บาท/คน ผ่านธนาคารออมสิน เบี้ยผู้สูงอายุคนละ 1,000 บาท เท่ากันทุกช่วงของอายุ

นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเสรีเพื่อลดราคาน้ำมัน โครงการโคล้านครอบครัว ไฟฟ้าราคาถูกสำหรับผู้มีรายได้น้อย โดยการลดค่า Ft เหลือหน่วยละ 3.90 บาท โครงการคนละครึ่งภาค 2 โครงการเที่ยวด้วยกันเมืองรองภาค 2

ชิงดำ เก้าอี้ ผบ.ตร.คนที่ 14

“เศรษฐา” ยังต้องเอ็กเซอร์ไซส์ การใช้อำนาจในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) แต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนใหม่ แทน พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. จะเกษียณอายุราชการ 30 กันยายน 2566

ในยุคที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นั่งหัวโต๊ะ ก.ตร. ชื่อของ “บิ๊กต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ถูกคาดหมายว่าจะเป็น “พิทักษ์ 1” คนที่ 14 อาจจะ “พลิกโผ”

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เลือกที่จะเล่นบท “เพลย์เซฟ” โชว์ธรรมาภิบาล ถอนวาระแต่งตั้ง “ผบ.ตร.คนใหม่” ในวินาทีสุดท้าย “บิ๊กเด่น” จึงมีหนังสือส่งให้ รองผบ.ตร.ที่เหลือ แสดงวิสัยทัศน์พร้อมผลงาน 4 หน้ากระดาษ

ส่วนเก้าอี้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) “เสธ.ไก่” พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการ สมช.คนปัจจุบัน ได้เสนอชื่อ “ลูกหม้อ” อย่าง “ฉัตรชัย บางชวด” รองเลขาธิการ สมช. ให้ “เศรษฐา” ในการประชุม “ครม.นัดแรก”

ขณะที่ข้าราชการระดับสูงที่จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2566 ได้แก่ กระทรวงพลังงาน นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ที่มีกระแส “จตุพร บุรุษพัฒน์” ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม “ข้ามห้วย”

กระทรวงแรงงาน นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน โดยมี “ไพโรจน์ โชติกเสถียร” อธิบดีกรมการจัดหางาน “อาวุโสสูงสุด”

กระทรวงการคลัง นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง โดยมี “ลวรณ แสงสนิท” อธิบดีกรมสรรพากร เป็น “ตัวเต็ง” นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต-นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เป็น “ตัวสอดแทรก”

กระทรวงมหาดไทย “แตะไม่ถึง”

ระนาบอธิบดีที่นายเศรษฐา “แตะไม่ถึง” เพราะรัฐมนตรีมาจากโควตาพรรคภูมิใจไทย คือ กระทรวงมหาดไทย ที่จะเข้ามารื้อด้วยตัวเอง เช่น นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

ส่วนกระทรวงการคลัง นายจำเริญ โพธิยอด อธิบดีกรมธนารักษ์ กระทรวงยุติธรรม นางทัศนีย์ เปาอินทร์ อธิบดีกรมบังคับคดี นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กระทรวงแรงงาน นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

ส่วนกระทรวงที่ต้อง “ลุ้นกันตัวโก่ง” เปลี่ยนหน้าเจ้ากระทรวง-เปลี่ยนพรรคการเมือง คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นายประกอบ เผ่าพงศ์ อธิบดีกรมหม่อนไหม

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ น.ส.สราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว

นอกจากการใช้อำนาจในช่วงเปลี่ยนผ่านแล้ว “เศรษฐา” ยังต้องมาแก้ปมผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ “ถูกแขวน” ในช่วงปลายครม.รักษาการ-เปลี่ยนผ่านรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ทั้งการแต่งตั้ง “เทพรัตน์ เทพพิทักษ์” ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ยังคาราคาซังอยู่ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คนใหม่ที่ถูกเตะไปเตะมาอยู่ในกระทรวงการคลัง รอ “เศรษฐา” ชูตเข้าประตู

แหล่งที่มา https://www.prachachat.net/politics/news-1385846

รับจดทะเบียนบริษัท,รับทำบัญชี,รับจดทะเบียนบริษัท ราคาถูก,รับจดทะเบียนบริษัท ทั่วไทย,รับจดทะเบียน ออนไลน์,รับจดทะเบียนบริษัท ต่างชาติ,รับจดทะเบียนบริษัท ด่วน,รับจดทะเบียนบริษัท ร้านค้า,รับจดทะเบียนบริษัท คนเดียว , รับจดทะเบียนบริษัท ที่ไหน , รับจดทะเบียนบริษัท ช่วงโควิด-19 , รับจดทะเบียนบริษัท ท่องเที่ยว , รับจดทะเบียนบริษัท ก่อสร้าง , จดทะเบียนบริษัท ที่ไหนดี , จดทะเบียนบริษัท ทำอย่างไร