กลุ่ม ปตท.กางแผนลงทุน 5 ปี ทุ่ม 1.33 ล้านล้าน จีนคลายล็อกดาวน์ดันพลังงาน-ปิโตรเคมีพุ่ง

กลุ่ม ปตท.กางแผนลงทุน 5 ปี ทุ่ม 1.33 ล้านล้าน จีนคลายล็อกดาวน์ดันพลังงาน-ปิโตรเคมีพุ่ง

ความกังวลในปี 2566 คงหนีไม่พ้นเศรษฐกิจโลกถดถอย นับเป็นความท้าทายของภาคธุรกิจที่คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจปีนี้จะแย่ยิ่งกว่าปี 2565 ต่างเร่งวางกลยุทธ์รับมือกับปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของไทยอย่าง บมจ.ปตท.และบริษัทในเครือฯ ก็เตรียมความพร้อม ควบคู่กับการแสวงหาการลงทุนธุรกิจใหม่เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเตรียมเงินลงทุนไว้เต็มที่เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสดีที่เข้ามา

ทั้งนี้ ปตท.และ 6 บริษัท Flagship ประกาศแผนการลงทุน 5 ปีนี้ (2566-2570) เว้น บมจ.ไทยออยล์ (TOP) เป็นงบการลงทุน 3 ปีนี้ (2566-2568) โดยวงเงินลงทุนของกลุ่ม ปตท.ใน 5 ปีนี้อยู่ที่ 1,336,410 ล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้ลงทุนทั้งโครงการต่อเนื่อง และธุรกิจใหม่ที่ได้รับการอนุมัติแล้ว ลำพังแค่บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. ที่กำหนดงบลงทุนสูงถึง 29,100 ล้านเหรียญสหรัฐหรือราว 1,006,676 ล้านบาท คิดเป็น 75% ของงบลงทุน 5 ปีกลุ่ม ปตท. และเป็นบริษัทที่มีผลการดำเนินในปี 2565 เติบโตโดดเด่นมากที่สุดในกลุ่ม ปตท. รองลงมาคือ บมจ. ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ตั้งงบลงทุนไว้ที่ 101,487 ล้านบาท

สำหรับ บมจ.ปตท.และบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% ตั้งงบการลงทุน 5 ปี (ปี 2566-2570) อยู่ที่ 100,227 ล้านบาท แบ่งเป็น ปี 2566 อยู่ที่ 33,344 ล้านบาท, ปี 2567 ประมาณ 36,746 ล้านบาท, ปี 2568 อยู่ที่ 11,815 ล้านบาท, ปี 2569 ราว 13,622 ล้านบาท และปี 2570 อยู่ที่ 4,700 ล้านบาท

โดยงบลงทุน ปตท.ราว 55% ใช้เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศ โดยเน้นธุรกิจหลัก (Core Businesses) ไม่ว่าจะเป็น โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 เพื่อทดแทนโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 1 และโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 8 รวมถึงถังเก็บผลิตภัณฑ์อีเทนและสถานีรับจ่ายเพื่อเพิ่มความสามารถในการนำเข้าผลิตภัณฑ์อีเทน โครงการท่อส่งก๊าซฯ บางปะกง-โรงไฟฟ้าพระนครใต้ และโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5

สำหรับการลงทุนผ่านบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% เช่น โครงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอย่างครบวงจร โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3

นอกจากนี้ ปตท.มีกระสุนสำรองเพื่อเตรียมความพร้อมลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) ในระยะ 5 ปีข้างหน้าอีก 302,168 ล้านบาท ส่วนใหญ่มุ่งเน้นการขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ ปตท. “Powering life with future energy and beyond” ที่มุ่งเน้นธุรกิจพลังงานสะอาดเพื่อไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เช่น การลงทุนในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าอย่างครบวงจร โดยขยายการลงทุนให้ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ การลงทุนในธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงระบบเครือข่ายขนส่งทั้งหมดของประเทศ การลงทุนในธุรกิจ Life science (ธุรกิจยา Nutrition และอุปกรณ์ทางการแพทย์) โครงการพลังงานหมุนเวียนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ 12,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2573 ตลอดจนพลังงานอนาคตอย่างไฮโดรเจน

กลุ่ม ปตท.เทงบลงทุนใน ปท.ปี 66 แตะ 2 แสนล้าน

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) (PTT) กล่าวว่า ในปี 2566 กลุ่ม ปตท.ตั้งงบลงทุนในประเทศอยู่ที่ 200,292 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการลงทุนของ ปตท.และบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% เพียงแค่ 16% ของงบลงทุนรวม ที่เหลืออีก 84% เป็นการลงทุนของ 6 บริษัท Flagship ในกลุ่ม ปตท.

โดยปี 2566 งบลงทุนส่วนใหญ่ของ ปตท.ใช้ในโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก ซึ่งเป็นการลงทุนต่อเนื่อง ส่วนการลงทุนในธุรกิจใหม่มีสัดส่วนไม่ถึง 10% แต่ถ้าหากมีโครงการที่ดีที่สอดรับกับวิสัยทัศน์ ปตท.ก็พร้อมจะลงทุนโดยใช้งบ Provisional Capital Expenditure ที่ตั้งสำรองไว้ถึง 3 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ดี หากแบ่งการลงทุนตามประเภทธุรกิจในปี 2566 ปตท.อัดเงินลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 10,023 ล้านบาท ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ 7,503 ล้านบาท ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย 863 ล้านบาท ธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลายธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานและสำนักงานใหญ่ 2,440 ล้านบาท ส่วนการลงทุนในบริษัทที่ปตท.ถือหุ้น 100% สูงถึง 12,515 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นบริษัท อรุณ พลัส จำกัด ซึ่งเป็นหัวหอกด้านระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรตั้งแต่การผลิตรถทั้งคัน จนถึงสถานีชาร์จ โดยจับมือกับ Foxconn ตั้งบริษัทร่วมทุนฮอริษอน พลัส (Horizon Plus) ตั้งโรงงานผลิตรถอีวีที่จะผลิตเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 1/2567 และบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ที่มีบทบาทในการรุกสู่ธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life Science : ธุรกิจยา Nutrition และอุปกรณ์ทางการแพทย์) โดยเข้าไปถือหุ้นในบริษัท Lotus Pharmaceutical Company Limited

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 คาดว่า GDP เติบโตสูงขึ้นกว่าปี 2565 เนื่องจากไทยเพิ่งเปิดประเทศเต็มที่เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ดังนั้นเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะเติบโตได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับหลายประเทศในโลกที่ต้องเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย รวมทั้งการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ของจีนที่เริ่มในวันที่ 8 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ส่งผลดีต่อภาคธุรกิจของไทย และกระตุ้นการขยายเศรษฐกิจโลก ขณะที่ราคาน้ำมันยังทรงตัวในระดับสูง

ปตท.สผ.แชมป์ลงทุนสูงสุดในกลุ่ม ปตท.

ด้านนายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า บริษัทฯ ตั้งงบแผนการลงทุน 5 ปี (ปี 2566-2570) อยู่ที่ 29,100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1,006,676 ล้านบาท และสำรองงบในการขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจใหม่ใน 5 ปีนี้อีก 4,800 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 166,052 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาและพัฒนาธุรกิจไฟฟ้า ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture & Storage หรือ CCS) ธุรกิจการดักจับคาร์บอนและการใช้ประโยชน์ (Carbon Capture and Utilization หรือ CCU) และธุรกิจไฮโดรเจนสะอาด

สำหรับปี 2566 ปตท.สผ.กำหนดงบลงทุนที่ 5,481 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 191,818 ล้านบาท เพื่อรองรับแผนการเพิ่มปริมาณการผลิตปิโตรเลียม รวมถึงเร่งกิจกรรมสำรวจ พัฒนาและผลิตเพิ่มเติมจากโครงการผลิตหลักที่สำคัญ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในประเทศไทย ได้แก่ โครงการจี 1/61 (แหล่งเอราวัณ, ปลาทอง, สตูล และฟูนาน) ตั้งเป้ามีกำลังการผลิตก๊าซฯในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันและจะขยับขึ้นตามสัญญาอยู่ที่ 800ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือนเมษายน 2567 โครงการจี 2/61 (แหล่งบงกช) โครงการอาทิตย์ โครงการคอนแทรกต์ 4 โครงการเอส 1 และโครงการผลิตในประเทศมาเลเซีย

นอกจากนี้ บริษัทเดินหน้าโครงการ CCS การใช้พลังงานหมุนเวียน การติดตั้งอุปกรณ์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการดำเนินการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2593 รวมทั้งผลักดันโครงการที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นโครงการมาเลเซีย เอสเค 410 บี โครงการโมซัมบิก แอเรีย 1 ให้สามารถเริ่มการผลิตได้ตามแผน พร้อมกับเร่งเจาะสำรวจแหล่งปิโตรเลียมในไทย มาเลเซียและโอมาน โดยตั้งเป้าในปี 2566 ปตท.สผ.มีปริมาณการขายปิโตรเลียมอยู่ที่ 470,000 บาร์เรลต่อวัน

GPSC อัดงบ 3 หมื่นล้านลุยโรงไฟฟ้า

บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC มีเป้าหมายในการขยายสู่ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น สอดรับวิสัยทัศน์ ปตท.ที่ต้องการเพิ่มพอร์ตพลังงานหมุนเวียนในกลุ่ม ปตท.เป็น 12,000 เมกะวัตต์ในอีก 7 ปีข้างหน้า ควบคู่กับการเดินหน้าขยายธุรกิจแบตเตอรี่ที่ร่วมกับกลุ่ม ปตท.หวังเข้าสู่ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

สำหรับงบลงทุน 5 ปีนี้ GPSC ตั้งงบลงทุนประมาณ 30,000 ล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนในโครงการ SPP replacement โครงการหน่วยผลิตพลังงาน (Energy Recovery Unit : ERU) ที่ผลิตไฟฟ้าและไอน้ำป้อนโครงการ CFP ของไทยออยล์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ตามแผนกลยุทธ์สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

ไทยออยล์เร่งลุยโครงการ CFP-CAP

สำหรับกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นของ ปตท. ประกอบด้วย บมจ.ไทยออยล์ (TOP) ตั้งงบลงทุน 3 ปีนี้ (2566-2568) อยู่ที่ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 34,590 ล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้ในโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project : CFP) ที่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพโรงกลั่นและขยายกำลังการกลั่นจาก 2.75 แสนบาร์เรล/วัน เป็น 4 แสนบาร์เรล/วัน แล้วเสร็จในปี 2566 โดยมีผลพลอยได้ในกระบวนผลิตคือแนฟทา ต่อยอดสู่ธุรกิจปิโตรเคมี ทำให้ไทยออยล์ก้าวสู่บริษัทพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ครบวงจร

ในปี 2565 ถือเป็นปีที่ดีอีกปีหนึ่งของไทยออยล์ โดยเฉพาะในไตรมาส 2 ปี 2565 ไทยออยล์มีกำไรสุทธิสูงถึง 25,326.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,093% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นผลสืบเนื่องจากราคาน้ำมันดิบสูงขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ขณะที่ค่าการกลั่นพุ่งสูงผิดปกติจากดีมานด์การใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นจากการผ่อนคลายการปิดเมืองในหลายประเทศ ทำให้ไทยออยล์มีกำไรจากสต๊อกน้ำมัน แต่เมื่อราคาน้ำมันดิบอ่อนตัวลงในช่วงไตรมาส 3-4/2565 ค่ากลั่นปรับลดลงสู่ภาวะปกติ และบริษัทบันทึกขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน กอปรกับการลงทุนในบริษัท PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ซึ่งเป็นผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ครบวงจรชั้นนำรายใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย ก็ได้รับผลกระทบจากราคาปิโตรเคมีตกต่ำให้ต้องแบกรับภาระขาดทุนตามสัดส่วนการถือหุ้น แต่เชื่อว่าในปี 2565 วัฏจักรราคาปิโตรเคมีผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว

ด้าน บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) กางแผนลงทุน 5 ปีนี้อยู่ที่ 101,487 ล้านบาท แบ่งตามกลุ่มธุรกิจหลักดังนี้คือ ธุรกิจ Mobility 31,355.1 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 30.9% ธุรกิจ Lifestyle จำนวน 33,861.7 ล้านบาท คิดเป็น 33.3% ธุรกิจ Global วงเงิน 16,410.3 ล้านบาท คิดเป็น 16.2% ธุรกิจ Innovation & New businesses วงเงิน 19,859.7 ล้านบาท คิดเป็น 18.6% การลงทุนนี้เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในประเทศไทยในการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน (Oil Ecosystem) รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน สร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจพลังงานแบบผสมผสานเพื่อการเคลื่อนที่อย่างไร้รอยต่อ (Seamless Mobility) เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย ขณะเดียวกันก็เร่งขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า “EV Station PluZ” ทั้งในและนอกสถานีบริการ PTT Station

นอกจากนี้ ยังแสวงหาการเติบโตในต่างประเทศผ่านการขยายเครือข่ายและการร่วมลงทุนกับพันธมิตรที่มีศักยภาพในตลาดใหม่ รวมทั้งมองโอกาสการลงทุนธุรกิจใหม่ (New S-Curve) เพื่อสนับสนุนต่อยอดในธุรกิจปัจจุบันสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน

ปิโตรเคมีมีลุ้น! จีนเปิด ปท.กระตุ้นดีมานด์

สำหรับ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) ตั้งงบลงทุน 5 ปีนี้ (2566-70) กว่า 36,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการต่อยอดจากธุรกิจปัจจุบันเข้าสู่ 5 กลุ่มธุรกิจใหม่ที่มีการเติบโตสูง คือ Health and Life Science, Advance Material, Circular Business, Future Energy และ Energy Storage โดยอาศัยนวัตกรรมของบริษัทและความร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อก้าวสู่การเป็นบริษัทนวัตกรรมวัสดุและพลังงานอย่างยั่งยืน (Material and Energy Solution) โดยตั้งเป้ามีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อม (EBITDA) อยู่ที่ 35,000 ล้านบาทในปี 2573

โดยปี 2566 ไออาร์พีซีตั้งงบลงทุนอยู่ที่ 7,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและคุณภาพน้ำมันดีเซลตามมาตรฐานยูโร 5 (UCF) คาดว่าจะแล้วเสร็จในต้นปี 2567 และขยายกำลังการผลิตโครงการผลิตผ้าไม่ถักไม่ทอ (non-woven fabric) ของบริษัทร่วมทุน อินโนโพลีเมดที่เปิดเดินเครี่องเชิงพาณิชย์เมื่อไตรมาส 4/2565 รวมทั้งแสวงหาโอกาสการทำ M&Aในธุรกิจเป้าหมาย รวมทั้งได้จัดตั้งหน่วยงานใหม่ SOS ขึ้นมารับมือกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยด้วย

ด้าน บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) เป็นบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากราคาปิโตรเคมีตกต่ำแต่ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้นมาก โดยผู้บริหาร PTTGC แสดงความมั่นใจว่าปี 2566 ธุรกิจปิโตรเคมีจะฟื้นตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีกำลังการผลิตใหม่เข้าสู่ตลาด ยิ่งจีนเตรียมเปิดประเทศมั่นใจว่าความต้องการปิโตรเคมีจะเติบโตขึ้นมากทำให้ราคาปิโตรเคมีทยอยปรับตัวดีขึ้น อีกทั้ง PTTGC มีกำลังผลิตเพิ่มขึ้นจากโครงการพลาสติกวิศวกรรมชั้นสูง PA9T และHSBC ของบริษัทร่วมทุนคือ บริษัท คุราเร่ จีซี แอดวานซ์ แมททีเรียลส์ จำกัด ที่จะผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 1/2566 และโครงการปรับปรุงโรงโอเลฟินส์หน่วยที่ 2 (Olefins 2 Modification Project) ทำให้สามารถใช้โพรเพนเป็นวัตถุดิบในการผลิตได้เพิ่มขึ้นคาดว่าผลิตเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 1/2566

ทั้งนี้ PTTGC ตั้งงบลงทุน 5 ปีนี้อยู่ที่ 793 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 27,430 ล้านบาท ใช้ในโครงการปรับปรุงโอเลฟินส์หน่วยที่ 2 โครงการของกลุ่ม บริษัท allnex Holding GmbH ที่ PTTGC ซื้อกิจการมา และโครงการอื่นๆ เช่น โครงการเกี่ยวกับไอที & ดิจิทัล, โครงการปรับปรุงอาคารสำนักงาน, โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิต เป็นต้น

แม้ว่าในปี 2565 เป็นปีที่ย่ำแย่สำหรับธุรกิจปิโตรเคมีทั้งสายโอเลฟินส์และสายอะโรเมติกส์ราคาอยู่ในวัฏจักรฃขาลงเนื่องจากกำลังการผลิตใหม่ออกสู่ตลาดมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความต้องการใช้หดตัวจากการล็อกดาวน์ประเทศของจีน แต่เมื่อจีนประกาศคลายล็อกดาวน์แล้ว ทำให้ธุรกิจปิโตรเคมีเห็นแสงสว่างในปลายอุโมงค์ กลับมาคึกคักอีกครั้ง

แหล่งที่มา

https://mgronline.com/ 

 

รับจดทะเบียนบริษัท,รับทำบัญชี,รับจดทะเบียนบริษัท ราคาถูก,รับจดทะเบียนบริษัท ทั่วไทย,รับจดทะเบียน ออนไลน์,รับจดทะเบียนบริษัท ต่างชาติ,รับจดทะเบียนบริษัท ด่วน,รับจดทะเบียนบริษัท ร้านค้า,รับจดทะเบียนบริษัท คนเดียว , รับจดทะเบียนบริษัท ที่ไหน , รับจดทะเบียนบริษัท ช่วงโควิด-19 , รับจดทะเบียนบริษัท ท่องเที่ยว , รับจดทะเบียนบริษัท ก่อสร้าง , จดทะเบียนบริษัท ที่ไหนดี , จดทะเบียนบริษัท ทำอย่างไร