เคล็ดลับวางแผนรับมือ ‘ภาษีสังคม’ รายจ่ายที่เลี่ยงยาก!

เคล็ดลับวางแผนรับมือ ‘ภาษีสังคม’ รายจ่ายที่เลี่ยงยาก!

เคล็ดลับวางแผนรับมือ ‘ภาษีสังคม’ รายจ่ายที่เลี่ยงยาก!

เคล็ดลับวางแผนรับมือ ‘ภาษีสังคม’ รายจ่ายที่เลี่ยงยาก!

Money Hub

สนับสนุนเนื้อหา

หากถามใคร ๆ ว่าเดือน ๆ หนึ่งหมดค่าใช้จ่ายไปกับอะไรมาที่สุด คงจะได้คำตอบว่าค่ากิน ค่าอยู่ ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าเทอมลูก ฯลฯ รวมถึงการจัดสรรเงินออมในรูปแบบต่าง ๆ คงมีน้อยคนนักที่จะคำนึงถึงรายจ่ายประเภทหนึ่งที่แฝงอยู่ในชีวิตประจำวันของมนุษย์เผ่าพันธุ์ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “สัตว์สังคม” รายนั้นก็คือ “ภาษีสังคม”

ภาษีสังคม คืออะไร?
ภาษีสังคม คือ รายจ่ายอีกรูปแบบหนึ่งของการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพื่อการเข้าสังคมหรือการสร้างเครือข่ายคอนเนคชั่น หากถามว่าผิดหรือไม่ถ้าคุณไม่จ่ายภาษีสังคม คำตอบคือไม่ผิดกฎหมาย
แต่เพราะสังคมไทยเป็นสังคมอุปถัมภ์ สังคมเอื้ออาทรต้องช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เป็นสังคมแห่งความขี้เกรงใจ ใครช่วยเหลือเรา เราต้องช่วยเหลือกลับ
ดังนั้น ถ้าคุณไม่จ่าย “ภาษีสังคม” อะไรจะเกิดขึ้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ…มันอาจทำให้คุณเข้าสังคมยากขึ้น เพราะภาษีสังคมแลกมากับเครือข่ายทางสังคม ต้องยอมรับและอย่าลืมว่าในสังคมปัจจุบันนั้น คอนเนคชั่นไม่มีบารมีไม่เกิดจะจ่ายไม่จ่ายไม่มีใครว่า แต่ทุกอย่างจะง่ายขึ้นเมื่อจ่ายภาษีสังคมซะ! ไม่ว่าจะเป็นรายจ่ายที่ใช้ในการสังสรรค์กับเพื่อนฝูง ลูกค้า เจ้านายหรือจะเป็นงานแต่ง งานบวช งานวันเกิด งานศพ งานขึ้นบ้านใหม่ งานลูกเกิด งานรับปริญญา หรืออื่น ๆ ซึ่งหากคุณวางแผนการใช้จ่าย ภาษีสังคม ไม่ดี อาจส่งผลให้คุณมีปัญหาทางการเงินได้

 

เทคนิควางแผนและรับมือการใช้จ่าย “ภาษีสังคม”
หากรายจ่ายของคุณหมดไปกับภาษีสังคมแบบไม่มีการวางแผนแล้วละก็ ต้องส่งผลต่อเงินออมของคุณอย่างแน่นอน ดังนั้น การวางแผนและรับมือกับการใช้จ่ายตรงนี้อย่างรอบคอบจึงเป็นเรื่องจำเป็น ลองมาดูเทคนิควางแผนและรับมือการใช้จ่ายภาษีสังคม

 

1.เข้าร่วม-ควักจ่ายเท่าที่จำเป็น

ปกติมนุษย์จะมีเพื่อนและมีสังคมอยู่หลายกลุ่ม หลายเครือข่าย แต่อย่าลืมว่าในความเป็นจริงนั้น เราไม่จำเป็นต้องสนิทกับทุกคนทุกกลุ่ม ในหลาย ๆ กิจกรรมที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ก็ต้องรู้จักเอ่ยปากปฏิเสธให้เป็นอย่างถนอมน้ำใจ เพราะการที่เราไปทุกงานเฮไหนเฮนั่น จะเป็นการสร้างพฤติกรรมทางการเงินที่ไม่ดี ผลาญเงินในกระเป๋าไปกับยอดภาษีสังคมแบบไม่รู้ตัว ลองคิดง่าย ๆ หากทุกเย็นคุณตกปากรับคำไปสังสรรค์กับเพื่อนทุกกลุ่มที่คุณมี 5 วัน 5 กลุ่ม มื้อละ 500 ทั้งอาทิตย์หมดไป 2,500 เดือนหนึ่งมีกี่อาทิตย์ก็เอามาตั้งหารดู! 4 อาทิตย์ 10,000 บาท เอาเก็บไว้ใช้ในยามจำเป็นได้อีกเยอะ!

2.อย่าหน้าใหญ่

ไม่จำเป็นเสมอไปว่าจ่ายหนักแล้วคนอื่นจะมองว่าคุณเป็นคนดี เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องหน้าใหญ่ใจโตกับการจ่ายเพื่อเข้าสังคมแบบบ้าระห่ำเกินไปนัก จ่ายพอดี ๆ แบบไม่ต้องเดือดร้อนเงินในกระเป๋า บางครั้งหากไม่มีจริง ๆ ก็เอ่ยปากบอกเพื่อนฝูงไปตรง ๆ ว่าจ่ายได้แค่ตามกำลังที่มี จำไว้ว่าไม่ต้องพยายามทำให้คนอื่นเห็นว่าเรามี คุณต้องรู้จักหยุดความเกรงใจคนอื่นเพื่อจัดการกับรายจ่ายประเภทภาษีสังคมไม่ให้กระทบกับเงินออมของคุณ

3.ใจเขาใจเรา อย่าบังคับใจใครให้จ่าย

เมื่อคุณรู้จักหยุดเกรงใจคนอื่นแล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืม คุณก็ต้องเกรงใจคนอื่นเช่นเดียวกัน อย่ายัดเยียดให้ใครต้องมาจ่ายภาษีสังคมให้กับคุณแบบเกินกำลัง คุณจะได้ไม่ต้องลำบากใจเมื่อใคร ๆ มายัดซองงานแต่งน้อง ซองงานบวชหลานและอีกสารพัดซองให้คุณเพราะคุณก็เคยไปยื่นสารพัดซองให้เขาเหมือนกัน

4.ทำบุญไม่ได้มีแค่ในรูปแบบเงิน

ภาษีสังคมบางทีก็มาในรูปแบบการบอกบุญ จงจำไว้ว่าบางครั้งการทำบุญก็ไม่ได้มีแต่เฉพาะการลงเงิน แต่การลงแรงก็ดูจะเป็นอีกหนทางหนึ่ง อย่าไปคิดว่าทำบุญด้วยเงินน้อยจะไม่ได้บุญ ขึ้นชื่อว่าบุญหากทำด้วยใจเป็นสุขและได้บุญทุกคน เพราะฉะนั้นภาษีสังคมในรูปแบบการบอกบุญ คุณอาจอาสาไปช่วยออกแรง ไม่ต้องออกเงินก็ได้

5.ตั้งเป้าวงเงินภาษีสังคมต่อเดือน

คุณสามารถกำหนดเป้าหมายเป็นตัวเลขในแต่ละเดือนไว้เลยว่าจะจ่ายเงินเป็นภาษีสังคมเท่าไหร่ต่อเดือน โดยคำนึงถึงความสัมพันธ์กับรายรับและวงเงินเงินออม บางคนอาจมีกำลังในการจ่ายจ่ายภาษีสังคมได้มากกว่าคนอื่น นั่นเพราะเขามีรายได้ที่สูง บางคนกำหนดน้อยลงไปหน่อยเพราะรายรับน้อยกว่า
การกำหนดเป้าหมายจะทำให้คุณวางแผนการเงินได้ง่ายขึ้น รู้ว่าจะต้องจ่ายภาษีสังคมไม่ให้เกินงบในแต่ละเดือน โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนที่ทราบตายตัวอยู่แล้วว่าจะมีรายรับเท่าไหร่ ก็กำหนดตัวเลขไปเลยว่าแต่ละเดือนจะแบ่งสัดส่วนไว้ใช้กับภาษีสังคมจำนวนเท่าไหร่ หลักการข้อนี้เป็นการสร้างพฤติกรรมทางการเงินที่ดีได้อีกทาง

6.จ่ายแล้วอย่าลืมจดบันทึก
ที่สำคัญอย่าลืมจดว่าจ่ายภาษีสังคมไปเดือนละเท่าไร การจดบันทึกจะช่วยให้คุณบริหารและจัดการภาษีสังคมได้อย่างดีเยี่ยม เพราะเป็นการรับมือการใช้จ่ายไม่ให้เกินงบดุลที่กำหนดไว้และสิ้นปีก็ลองมาคำนวณดูว่าภาษีสังคมเท่ากับเท่าไหร่เมื่อเทียบกับภาษีเงินได้

ภาษีสังคมขึ้นชื่อว่าเป็นรายจ่ายที่หลีกเลี่ยงยาก แต่เชื่อเหลือเกินว่าแม้เลี่ยงไม่ได้ แต่ก็สามารถวางแผนและรับมือได้เพื่อสุขภาพทางการเงินที่ดี ท่องไว้มีรายรับเข้ามาแล้วก็อย่าจ่ายจนไม่มีเหลือเก็บออม เพราะหากคุณมีเหตุต้องใช้เงินแต่คุณกลับไม่มีเงินออมที่เพียงพอ ภาษีสังคมที่คุณจ่ายไปก็ไม่ได้ปันดอกเบี้ยกลับคืนมาให้คุณ

สนับสนุนเนื้อหาโดย Moneyhub