สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดย ศูนย์ประสานงานการศึกษา “การสร้างความคุ้มครองทางสังคมในกลุ่มเด็กและเยาวชน” (CSPS) จัดการประชุม “CHILD POLICY FORUM I : นโยบายด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์และการมีจิตสาธารณะของนักเรียนไทย” ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ เพื่อนำเสนอและร่วมอภิปรายผลการวิจัยหัวข้อ “การศึกษาความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์และการมีจิตสาธารณะเพื่อพัฒนาศักยภาพการเป็นคนดีคนเก่งของนักเรียนไทย” รศ.ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจจากวิทยาลัยประชากรศาสตร์ และ ผศ. ดร. ยศวีร์ สายฟ้า จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ทีมวิจัยได้ทำการออกแบบแบบทดสอบการคิดวิเคราะห์ (คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน) ตามโครงสร้างของข้อสอบโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ PISA และแบบทดสอบโครงการศึกษาแนวโน้มการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของนักเรียนไทยเทียบกับนานาชาติ หรือ TIMSS สำหรับแบบทดสอบวัดความมีจิตสาธารณะ มีองค์ประกอบ 4 ข้อ คือ 1.การมีความรับผิดชอบต่อตนเอง และหลีกเลี่ยงการใช้หรือการกระทำที่จะทำให้เกิดการชำรุดเสียหายต่อส่วนรวม 2.การถือเป็นหน้าที่ที่จะมีส่วนร่วมในการดูแลส่วนรวม และช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความเต็มใจโดยไม่หวังผลตอบแทน 3.การมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อโรงเรียน ชุมชนและสังคม และ 4.การมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยการเคารพสิทธิของผู้อื่นและปฏิบัติตนโดยสุจริต ทีมวิจัยนำแบบประเมินทั้ง 2 แบบ ไปทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักเรียนระดับชั้น ป.6 ม.4 และ ปวช. 1 จำนวนทั้งสิ้น 6,235 คนใน 5 ภูมิภาค 10 จังหวัด โดยมีการศึกษาปัจจัยด้านผู้เรียน โรงเรียน การใช้เวลา และครอบครัวประกอบด้วย ผลการวิจัยพบว่า เด็กไทยได้คะแนนการคิดวิเคราะห์ เกินร้อยละ 60 ในทุกวิชา เพียงร้อยละ 1.09 โดยเด็กที่มีผลการเรียนดี(วัดด้วยคะแนนสะสมในโรงเรียน) จะมีทักษะการคิดวิเคราะห์น้อยกว่า และมีจิตสาธารณะน้อยกว่าเด็กที่มีผลการเรียนต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ผลทางสถิติพบว่า เด็กที่มีทักษะการคิดวิเคราะห์จะมีแนวโน้มที่มีจิตสาธารณะที่ดีด้วย เด็กไทยมีจิตสำนึกรู้ถึงความรับผิดชอบของตนเองและการช่วยเหลือผู้อื่นในระดับหนึ่ง แต่ยังมีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อโรงเรียนชุมชนสังคมน้อย
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : http://www.kroobannok.com/80710