บางครั้งการนอนหลับให้เต็มอิ่มยาวนาน 7-8 ชั่วโมงก็ยังทำให้เราตื่นมาพร้อมกับอาการไม่สดชื่นได้ ยิ่งในวันไหนที่นอนน้อยอาการมึนเบลอยิ่งเล่นงานเราหนักข้อจนเกือบเสียงานเสียการกันไปใหญ่ ซึ่งหากใครกำลังเผชิญกับพลังความอ่อนเพลียอันเนื่องมาจากการอดนอนหรือนอนไม่หลับ ลองงีบกันสักช่วงเวลาสั้น ๆ สิคะ แล้วร่างกายจะรู้สึกสดชื่นตื่นตัวมากขึ้น ทว่าหากใครยังสงสัยว่าแค่งีบหลับจะมีอานุภาพมากขนาดนั้นได้ยังไง เรามีคำตอบมาให้อ่านตรงนี้แล้ว
การงีบหลับในช่วงเวลาสั้น ๆ สามารถปลุกพลังในร่างกายให้เราได้มากกว่า 58% ทั้งนี้ Sara C. Mednick ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนและนักเขียนหนังสือ Take a Nap ! Change Your Life ให้ข้อมูลมาว่า เพียงการงีบหลับสัก 15-20 นาทีในแต่ละครั้ง ก็สามารถรีเซตระบบการทำงานของสมองและช่วยปลุกความตื่นตัวให้ร่างกายได้ทันทีที่ลืมตาตื่น ความง่วงงุนก็จะหายเป็นปลิดทิ้ง อานุภาพรุนแรงกว่ากินคาเฟอีนเป็นไหน ๆ
ทั้งนี้เหตุผลที่การงีบหลับช่วยให้เรารู้สึกสดชื่นเหมือนคนได้พักผ่อนเต็มอิ่มอย่างนั้นก็เพราะว่า ก่อนที่ร่างกายจะเข้าสู่ภาวะอยากงีบหลับ ร่างกายเราจะรู้สึกเหมือนแบตจะหมด หรือเกิดความรู้สึกอ่อนล้าหนักมาก ดังนั้นการผล็อยหลับของเราที่แม้จะเกิดเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ก็สามารถทำให้ร่างกายหลับสนิทได้ทันทีเหมือนถอดปลั๊ก สมองได้ชัตดาวน์ตัวเองสักพักให้หายเหนื่อยล้า ไม่เหมือนที่เรานอนหลับยาว ๆ ตามปกติ ที่บางคนหัวถึงหมอนแล้วก็ยังนอนกระสับกระส่าย หรือรู้สึกหลับ ๆ ตื่น ๆ ตลอดทั้งคืนซึ่งก็เท่ากับว่าร่างกายไม่ได้รับการพักผ่อนอย่างสมบูรณ์นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม การงีบหลับเพื่อปลุกความสดชื่นให้ร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพควรอยู่ในช่วงเวลาระหว่าง 13.00-15.00 น. เพราะช่วงนี้จะเป็นช่วงที่นาฬิกาชีวิตหรือวงจรการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ต้องการการพักผ่อน ร่างกายและสมองจะมีการตอบสนองช้าลง จึงเหมาะแก่การหลับลึกในช่วงเวลาสั้น ๆ เป็นอย่างดี นอกจากนี้สภาพแวดล้อมที่เราจะงีบสักตื่นก็ควรเป็นที่มืด เงียบสงบ และมีอากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อช่วยให้เรางีบหลับได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
อ้อ ! แต่ทั้งนี้ก็ไม่ควรงีบเพลินเกิน 30 นาทีต่อครั้งนะคะ เพราะหากเผลอหลับดิ่งลึกนานไปกว่านั้น อาจตื่นมาพร้อมกับอาการงัวเงียและมึนหัวเป็นที่สุดก็ได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
webmd
sleep.org
sleepfoundation
artofwellbeing